Best Thai History

Amps

แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ รัตนโกสินทร์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ รัตนโกสินทร์ แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

วันประวัติศาสตร์ แห่งเรือพระที่นั่ง รัชกาลที่ ๙

 วันประวัติศาสตร์ แห่งเรือพระที่นั่ง

เมื่อ เปลี่ยนเรือพระที่นั่งเอก มาเป็นเรือพระที่นั่งรอง
กองทัพเรือ สร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ 
เป็นเรือพระที่นั่งกิ่งประเภทเรือรูปสัตว์ 
หนึ่งในเรือพระราชพิธี ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค 
เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาส 
พระราชพิธีกาญจนาภิเษกแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร 
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ 
เข้าประจำการเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ครั้งแรก 
เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๙
โดยจัดขบวนให้เป็นเรือพระที่นั่ง เอก 
สำหรับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ประทับ
และเปลี่ยน เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ 
ซึ่งเคยเป็นเรืองพระที่นั่งที่พระเจ้าอยู่หัวประทับ
มาเป็นเรือพระที่นั่งรอง
เหตุวุ่นวายเกิดขึ้น 
ตั้งแต่ จัดตั้งขบวนเรือ ก่อนจะเคลื่อนออกจากท่าวาสุกรี 
เมื่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ งอแง 
จะไม่ยอมเข้ากระบวน
และเมื่อเคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 
มาใกล้จะถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ก็เกิดอาเพท เหตุมิคาดฝัน 
เมื่อเกิดลมพายุและฝนเทกระหน่ำลงมาอย่างหนัก 
ขบวนเรือพยุหยาตรา แปรปรวน ส่ายหันเห ไปตามแรงลมและพายุฝน
โดยเฉพาะ เรือพระที่นั่งที่ทรงประทับ
บรรดาพสกนิกร ที่เฝ้ารอรับเสด็จ รวมทั้งข้าพเจ้าและครอบครัว 
ที่ได้ที่รอรับเสด็จ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  
บริเวณ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
ใกล้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ทุกคนไม่มีใครกลัวฝนฟ้าที่คะนองในเพลานั้น 
เหมือนถูกสะกดให้จับจ้องมองไปที่เรือพระที่นั่งด้วยความเป็นห่วง
เพราะถ้าหากควบคุมเรือพระที่นั่งไม่ให้ทรงลำอยู่ได้
อันตรายก็จะบังเกิดขึ้นกับพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ อย่างแน่นอน
ด้วยเดชะพระบารมี 
เมื่อพายุฝนใหญ่ สงบลงได้อย่างรวดเร็ว มิทันนานนัก
เรือพระที่นั่งและขบวนเรือพยุหยาตรา 
ก็สามารถผ่านพ้นสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และปากคลองบางกอกน้อย 
ไปได้อย่างปลอดภัย
ทุกอย่างกลับเคลื่อนไหวต่อไปเหมือนปกติ 
พสกนิกรทวยราษฎร์ทั้งหลาย ต่างคลายความวิตก 
โล่งอกลงได้ เมื่อเห็น 
พระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงปลอดภัย
และตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา
ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ก็มิได้ใช้เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
เป็นเรือพระที่นั่งเอก
และคืนกลับไปใช้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ 
เป็นเรือพระที่นั่งเอก มาจนตราบเท่าทุกวันนี้


เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์




เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙




ในงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี
ณ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง
วันอาทิตย์ที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๙









วันพุธที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2566

ประวัติ วัดราชบูรณะ พระพิมพ์ ต้นยุครัตนโกสินทร์ และ ที่มาของคำว่า พระสังฆราช

 สมเด็จพระสังฆราช มี 

สมเด็จพระสังฆราช มี 
พา พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าชาย  "ตัน"
หลบภัย ศึกพม่า ๒๓๑๐
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ 
เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (ตัน) 
พระโอรส องค์โต 
ในพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์(แก้ว)
หลังจากหนีภัยสงคราม กรุงแตก ๒๓๑๐) 
ออกมาได้แล้ว 
ตามประวัติราชวงศ์ กล่าวว่า 
บวชเป็นเณร (พระชันษา ๘ พรรษา) ตามพระอาจารย์ไป
พระอาจารย์ รูปนั้น คือ "พระอาจารย์ มี"
หรือ “พระศรีสมโพธิ์ราชครู” 
ตามแผ่นจารึกทองแดง ที่เขียนว่า 
 "สมเด็จพระศรีสมโพธิ์ราชครู กับ นายทองด้วงมหาดเล็ก"
พร้อมกับ พระพิมพ์จำนวนหนึ่ง มี ๒ พิมพ์ คือ
พระพิมพ์ปรกโพธิ์ เนื้อชินเงิน,
พระพิมพ์ดินเผาผสมผง ทรงแบบพระรอด 
หรือ เรียกอีกชื่อว่า “พระรอดเมืองใต้” 
แต่รวมเรียกพระพิมพ์ทั้งสองแบบนี้เป็นสามัญ ว่า 
“พระขรัวอีโต้” 
หลักฐานทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น 
พบในกรุ เจดีย์มอญ ที่ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว
หลังจากสถาปนาราชวงศ์ใหม่ และ สร้างกรุงเทพมหานครแล้ว
"พระอาจารย์ มี" 
จำพรรษาอยู่ที่ "วัดเลียบ"
ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้กับนิวาสสถาน ของ 
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (ตัน)  
และเป็นที่สถิตอยู่ของ "พระอาจารย์ มี" ของพระองค์ 
พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้า"ตัน" 
จึงได้ทรงมีพระราชศรัทธา เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์ ”วัดเลียบ”  
และยกจากวัดราษฎร์
ขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อปีพุทธศักราช  ๒๓๓๖ 
ต่อมา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 
ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ๋  
พระอาจารย์ มี หรือ “พระศรีสมโพธิ์ราชครู” องค์นี้
ขึ้นเป็นพระราชาคณะที่ “พระวินัยรักขิต” 
ซึ่งเทียบเท่า "พระอุบาลี" แต่เดิม 
ที่ต้องเปลี่ยนเพราะเห็นว่าสมณศักดิ์นี้ ไปพ้องกับ "พระอุบาลี"
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๓๗ ( ปีที่ ๑๓ ในรัชกาลที่ ๑) 
ทรงได้รับพระกรุณาธิคุณเลื่อนสมณศักดิ์ให้สูงขึ้น
ในระดับพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ “พระพิมลธรรม"
ใน ปีฉลูสัปตศก จุลศักราช  ๑๑๖๗ 
( พ.ศ. ๒๓๔๘ ปีที่ ๒๔ ในรัชกาลที่ ๑ ) 
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ (ตัน) 
ประชวรสิ้นพระชนม์ สิริพระชันษาได้ ๔๗ ปี 
การสร้างวัดราชบูรณะ อาจจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ดี 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ 
จึงได้โปรดฯ ให้สร้างต่อ และพระราชทานนามว่า 
"วัดราชบุรณราชวรวิหาร"
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
ให้เลื่อนสมณศักดิ์พระพิมลธรรม (มี) วัดราชบูรณะ 
ขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชาคณะ"ที่ "สมเด็จพระพนรัตน (มี)" 
และในปี พ.ศ.๒๓๕๙  (ปีที่ ๘ ในรัชกาลที่ ๒ ) 
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) 
ได้สิ้นพระชนม์ ลง 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา 
"พระพิมลธรรม (มี) เป็น
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
ในราชทินนามที่ “สมเด็จพระอริยวงษญาณ (มี)” สถิตอยู่ "วัดมหาธาตุ"
ในปีเถาะ จ.ศ.๑๑๘๑
( พ.ศ.๒๓๖๒ ปีที่ ๑๑ ในรัชกาลที่ ๒ ) 
จดหมายเหตุโหร บันทึกไว้ ว่า 
วันเสาร์ แรม ๑ ค่ำ มีจันทรุปราคาอัฒคราธ,
วันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ (ตุลาคม) เวลา ๓ ยาม  
"พระสังฆราช วัดราชบุรณะนิพพาน"
พระสังฆราชพระองค์ นี้ เป็น องค์เดียวกับ
สมเด็จพระอริยวงษญาณ (มี)” สถิตอยู่ "วัดมหาธาตุ"
แต่คนทั่วไป รวมทั้งในจดหมายเหตุโหร เรียกพระองค์ ว่า
พระสังฆราช วัดราชบูรณะ



พระพิมลธรรม “มี”วัดราชบูรณะ เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในราชทินนามที่ “สมเด็จพระอริยวงษญาณ (มี)” สถิตอยู่วัดมหาธาตุ



พระพิมพ์ดินเผาผสมผง ทรงแบบพระรอด หรือ เรียกอีกชื่อว่า “พระรอดเมืองใต้” หรือ "พระขวัวอีโต้" วัดราชบูรณะ กทม.


พระพิมพ์ปรกโพธิ์ เนื้อชินเงิน หรือ "พระขรัวอีโต้" วัดราชบูรณะ กทม.


วันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2566

พระราชภารกิจสุดท้าย พระองค์เจ้าขุนเณร

 "พระองค์เจ้าขุนเณร
กับ พระราชภารกิจสุดท้าย"

พระองค์เกิดในปลายแผ่นดิน กรุงศรีอยุธยา

จากกรุงเก่ามาด้วย ความทุกข์อย่างสาหัส

เรื่องราวของพระองค์เจ้าขุนเณร

ไม่ค่อยปรากฏให้พบหลักฐานมากนัก

นอกจากในพระราชพงศาวดาร บางตอน

และที่พระยาบดินทร์เดชา กล่าวไว้

เมื่อเวลาเป็นศึกสงคราม ครั้งใหญ่ ๆ

"พระองค์เจ้าขุนเณร" ทรงหลักแหลม,เฉียบขาด ในการรบ

กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระองค์เจ้าอรุโณทัย ช้าง)   

จึงตรัสเรียก "พระองค์เจ้าขุนเณร"

ให้เข้ามาเฝ้าในที่ใกล้ 

พระราชทาน "พระแสงดาบฝักทองคำ"องค์หนึ่ง

แด่ "พระองค์เจ้าขุนเณร"

"พระองค์เจ้าขุนเณร" 

กับกองทหารอาทมาต ๕๐๐ นาย ของพระองค์

ทำงานในทางลับ

และอยู่เบื้องหลังสงครามใหญ่ ๆ 

ไม่ปรากฏนามและชื่อเสียง 

จบงานก็หายเงียบไป  

แม้กระทั่ง ตัวของพระองค์เอง "พระองค์เจ้าขุนเณร"

วีรบุรุษ แห่ง "กรมทหารหน่วยรบพิเศษ"



เส้นทางเดินทัพศึกเจ้าอนุเวียงจันทน์ พ.ศ.๒๓๖๙ - พ.ศ.๒๓๗๐



ตีค่ายหนองบัวลำภู,ค่ายทุ่งส้มป่อย ผ่านช่องเขาสาร ไปตีเวียงจันทน์ พ.ศ.๒๓๗๐





วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2566

พระองค์เจ้าขุนเณร หลังกรุงแตก ๒๓๑๐

 พระองค์เจ้าขุนเณร 

"นายทัพกองโจร" 

ใน สมเด็จกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท (บุญมา)

พระองค์เจ้าขุนเณร 
เป็นบุตรของพระอินทรรักษา (เสม) 
พระภัสดาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (สา) 
พระเชษฐภคินีเธอ
ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 
ที่เกิดกับหญิงสามัญ 
ซึ่งเป็นอนุภริยาในพระอินทรรักษา (เสม) 
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา 
หลังกรุงแตก ๒๓๑๐
พระองค์เจ้าเณร 
ได้ติดตาม พระมารดาเลี้ยง (สา)
พระเชษฐา และพระเชษฐภดีนี 
หลบหนีพม่าจากกรุงเก่า 
จนมาประทับที่ "บ้านปูน" 
ใกล้ "วัดบางหว้าใหญ่" (วัดระฆัง) ด้วย
ในปี พ.ศ.๒๓๒๘ ปีที่ ๔ ในรัชกาลที่ ๑ 
พม่ากรีฑาทัพใหญ่ เข้ามา ในทุก ๆ ด้าน
"เจ้าขุนเณร" รับราชการด้วย
สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าวังหน้า "บุญมา")
ได้รับพระบัญชาโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งกองโจร สกัดทัพพม่า 
หรือรักษาด่านอยู่ที่ท่ากระดาน ก่อนที่สงครามเก้าทัพ จะเริ่ม
เจ้าขุนเณร นำทหารไปตั้งค่ายปะปนอยู่กับชาวบ้าน
ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
ซึ่งมีทั้งชาวไทย มอญ ข่า ละว้า และกะเหรี่ยง 
จนต่อมา เรียกชื่อบ้านกลุ่มนี้ ว่า 
“บ้านเจ้าเณร” หรือ “บ้านพ่อขุนเณร”
ครั้น เมื่อ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
ยกทัพไปรับศึกพม่า ที่ เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ 
จึงโปรดเกล้าฯ ให้
"เจ้าขุนเณร" เป็น "นายทัพกองโจร"
คุมพลทหาร ๑,๐๐๐ คน 
ยกไปบรรจบกับ "กองโจรเดิม" เป็นคน ๑,๕๐๐ คน
ไปคอยก้าวสกัดตีกองลำเลียงพม่าที่
ตำบล "พุไคร้" ดังก่อน 
อย่าให้พม่าส่งลำเลียงเสบียงอาหารกันได้ 
กองทัพพม่าซึ่งมาตั้งรบอยู่นั้นจะได้ถอยกำลังลง
เจ้าขุนเณรและนายทัพนายกองทั้งปวง 
ก็กราบถวายบังคมลายกไปกระทำการตามรับสั่ง 
คอยซุ่มสกัดตีทัพกองลำเลียงพม่า 
จับได้พม่าแลช้างม้าโคต่าง ส่งมาถวายเนือง ๆ 
หลังเสร็จศึกสงคราม ๙ ทัพ 
พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงสถาปนา “เจ้าเณร” 
พระอนุชาต่างชนนีกับกรมพระราชวังหลัง (ทองอิน)
ให้มียศเป็น “พระองค์เจ้า” 
แล้วตั้งวังอยู่ที่   “บ้านปูน” 
ซึ่งอยู่ระหว่าง วังเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรรณเรศร์ (ทองจีน)  
กับเขตวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆัง)  
ยังมีทางเดินเรียกกันว่า  “ตรอกเจ้าขุนเณร” 
ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น "ซอยศาลาต้นจันทน์"


รูปปั้น จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ ๒ จ.กาญจนบุรี



บ้านเจ้าเณร ปัจจุบัน อยู่ใต้เขื่อนศรีนครินทร์ (เขื่อนเจ้าเณร) จ.กาญจนบุรี จุดสกัดพม่า ที่ เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์



บริเวณที่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า เป็นวังของพระองค์เจ้าเณร



ศาลศาลาต้นจันทน์ ปากซอย "ศาลาต้นจันทน์" ซึ่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า ชื่อ "ตรอกเจ้าขุนเณร"



วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2566

รูปหาดูยาก ภาพ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงถ่ายรูป วัดไชยวัฒนาราม

 ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ 

ทรงถ่ายรูป วัดไชยวัฒนาราม 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๔ 
วันดีคืนดี ภาพนี้ก็หายไปจากอัลบั้ม
นานโข
เพิ่งเห็นนี้แหละ
ถ่ายโดย นายซ้อน คงไสย
ผู้สื่อข่าว "ไทยรัฐ" อยุธยา
แต่ฟิล์มสี ยังคงอยู่ที่ "ปฏิพัฒน์"






วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2566

นาคหลวงชุดแรก ของ วัดพระแก้ว วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 นาคหลวงชุดแรก ของ 

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม "วัดพระแก้ว"

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม "วัดพระแก้ว"
เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 
โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น
พร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕
จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๗
นาคหลวง ที่ทรงผนวช ในพระอุโบสถวัดพระแก้ว
ใน ปี พ.ศ.๒๓๓๑ สามพระองค์แรก คือ
๑.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ 
เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ฉิม) พระชนมายุ ๒๑ พรรษา
๒.สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ 
เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศวร( ทองจีน) พระชันษา ๓๑ ปี
๓.สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ 
กรมหลวงเทพหริรักษ์ ( ตัน) พระชันษา ๒๙ ปี



วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2566

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ยกทัพ จากกรุงเทพ ไปตี ทวาย เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๐

 ลำบากนะ.....

กว่า จะรักษา "เอกราช ของชาติไทย" ไว้ได้จนปัจจุบันนี้.

ไม่รู้เหตุ ว่า คนนำทางไม่ชำนาญทาง
หรือ คิดอะไรอยู่ ณ เวลา นั้น 
การยกทัพจะไปตี "ทวาย" 
ในปี มะแม พ.ศ.๒๓๓๐ ของรัชกาล ที่ ๑ 
"เพื่อให้พม่าเห็นว่า ไทยมีกำลังพอจะทำศึกตอบแทนได้บ้าง"
จึงเสด็จนำทัพหลวง ยาตราพยุหทัพหลวง จากกรุงเทพฯโดยทางชลมารค
ดำรัสให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ,เจ้าพระยามหาเสนา,พระยายมราช 
เป็นกองหน้า
พระยาพระคลัง เป็นเกียกกาย
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ฉิม) (รัชกาลที่ ๒)
เป็นยกกระบัตร 
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหรีรักษ์ (ตัน) 
เป็นทัพหลัง
 เสด็จประทับรอนแรมไปตามระยะทางชลมารค ถึง (เขา)ท่าตะกั่ว แม่น้ำน้อย
เสด็จขึ้นประทับ ณ พระตำหนักค่ายหลวง ที่กองหน้าทำรอไว้
แล้วกองหน้าก็ล่วงหน้าขึ้นไปก่อน
ฝ่ายกองทัพหลวงจึงเสด็จพระราชดำเนินตาม
ฝ่ายข้างเมืองทวาย ได้รับแจ้งว่า กองทัพไทยยกมาทาง
ด่าน "วังปอ" เขาสูง จะมาตีเมืองทวาย
จึงให้ นายทัพยกพลจำนวนหนึ่ง 
ไปตั้งค่าย รอรับ ช่องทางที่มาจาก "ด่านทางวังปอ" 
แล้วให้ เจ้าเมืองทวาย ถือพลอีกจำนวนหนึ่ง 
ไปตั้งค่ายปีกกาสกัดท้องทุ่งทาง 
ซึ่งจะมาจาก "เมืองกลิอ่อง" ถึงเมืองทวาย
แล้วเกณฑ์ทหารอีกส่วนหนึ่ง ขึ้นไปตั้งค่ายรับอยู่ที่ "เมืองกลิอ่อง"
ส่วนในเมืองทวาย ก็เตรียมทหารทั้งพม่าและทวาย 
พร้อมสรรพอาวุธ ทั้ง ปืนเล็ก ปืนใหญ่
ขึ้นประจำเชิงเทินกำแพงเมืองโดยรอบ
ฝ่ายเจ้าพระยารัตนาพิพิธ แม่ทัพหน้าเดินทัพข้ามเขาสูงไปแล้ว
จึงให้พระสุรเสนา,พระยามหาอำมาตย์,แลท้าวพระยานายทัพนายกอง
ล่วงหน้าไปก่อน ได้ปะทะกับพม่าที่มาตั้งค่ายรอ
รบกันเป็นสามารถ ก็หักเอาค่ายพม่า ไม่ได้ 
ต้องหนุนทัพเข้าไปเรื่อย ๆ 
จนพม่าแตก หนีออกทางหลังค่าย ไป "เมืองกลิอ่อง"
กองทัพไทยได้ค่ายพม่า แล้ว ต้องพักรี้พลอยู่ที่ค่ายพม่า วังปอ ๒ วัน
(เพราะหมดแรงทั้งปีนเขา และ รบพม่าที่มาตั้งรับ)
จากนั้น "ทัพหน้า" เคลื่อนติดตามพม่าไปจนถึง ค่าย "เมืองกลิอ่อง"
ทัพหลวงจึงเสด็จขึ้นข้ามเขาสูง
และเขานั้นชันนัก จะทรงช้างพระที่นั่งขึ้นไปมิได้
"ต้องผูกราว" ตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไป 
แล้วเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท ยึดราว ขึ้นไปตั้งแต่เชิงเขา
เช้าจนถึงเที่ยงจึงถึงยอดเขา
และช้างซึ่งขึ้นเขานั้น ต้องเอางวงยึดต้นไม้ จึงเหนี่ยวตัวขึ้นได้
ช้างที่พลาดพลัดตกเขาลงมาตายทั้งคนทั้งช้าง ก็มีบ้าง
รัชกาลที่ ๑ จึงมีพระราชโองการ ดำรัสว่า
"ไม่รู้ว่าทางนี้เดินยาก พาลูกหลานมาได้รับความลำบากยิ่งนัก"
เมื่อจะลงจากเชิงเขาข้างเมืองทวาย ก็เสด็จพระราชดำเนินทรงยึดราวไปเหมือนตอนขาขึ้นเช่นกัน.


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์



เส้นทางยกทัพ จากกรุงเทพฯ ไปตี ทวาย เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๐





เส้นทางยกทัพ ข้ามเขา จาก "ด่านวังปอ" ไป "เมืองกลิอ่อง" ก่อนเข้าตีเมืองทวาย เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๐



จากเมืองกลิอ่อง ( Kaleinaung ) มองกลับมา เห็นทิวเขาตะนาวศรี เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า



เจดีย์ในเมือง กลิอ่อง ( Kaleinaung ) เขตเมืองทวาย



วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2566

ค่ายหลวง เมืองเถิน ของ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท บุญมา

 "ค่ายหลวง" หรือ "ที่ล้อมแรด"

โดยปกติของการตั้ง "ค่าย"
ไม่เคยปรากฏ ว่า มีครั้งใด
ที่ตั้งค่าย  ไว้ใน "เมืองเดิม"
หรือ "บ้านเมืองที่อยู่อาศัยเดิมของเมือง" นั้น ๆ 
มีแต่ ขุดคู ถมคันดิน ปักเสาเพนียด 
ตั้งค่ายอยู่นอกเมือง ทางด้านใดค้านหนึ่ง
แล้วแต่ "ชัยภูมิ"ที่เหมาะสม
เช่นเดียวกัน 
ในพระราชพงศาวดารรกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑
สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ (พระเจ้าวังหน้า) 
ก็เสด็จยกทัพขึ้นไปด้วย  เสด็จไปถึง "เมืองเถิน" 
ทรงพระประชวรพระโรคนิ่วพระอาการมาก
ไม่อาจคุมทัพขึ้นไปช่วยรบป้องกันเมืองเชียงใหม่ได้. 
เมื่อสำรวจดูจากภาพ Google Map แล้ว
เห็นคูน้ำคันดินเป็นรูปสี่เหลี่ยม ผืนผ้า
ตั้งอยู่ห่างจาก "ชุมชนเมืองเถิน"
ระยะทางประมาณ ๔๐๐ - ๕๐๐ เมตร
จึงสันนิษฐานว่า 
"คูน้ำ คันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ น่าจะเป็น
"ค่ายหลวง" ที่ประทับของ
สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา)
มากกว่า จะเป็น "ที่ล้อมแรด"
ดังที่เชื่อถือกันทุกวันนี้





จุดยุทธศาสตร์ เส้นทางการเดินทัพ จากพระนครศรีอยุธยา ขึ้นเหนือผ่าน เมืองลำปาง สู่ เชียงใหม่

 จุดยุทธศาสตร์ 

ของเส้นทางการเดินทัพ

จากพระนครศรีอยุธยา

จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

คือ "ลี้สบเติน" หรือ "ลี้สบเถิน"
มีกล่าวถึงตำแหน่งชัยภูมิ นี้ 
ตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยาตอนต้น 
เมื่อครั้ง ชวดศก จ.ศ.๘๑๘ ( พ.ศ.๑๙๙๙ )
สมเด็จสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ   
แต่งทัพให้ไปเอาเมือง "ลิสบทึน" 
เมื่อครั้งขึ้นไปรับราชการอยู่ สำนักศิลปากรที่ ๗ น่าน
สืบหา เมืองนี้อยู่นาน จึงพบว่า
เมือง "ลิสบทึน" 
ที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า (ฉบับหลวงประเสริฐ)
คือ เมืองที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ 
"แม่น้ำลี้" จาก "ลำพูน" ไหลมาบรรจบ (สบ) กับ 
"แม่น้ำเถิน" จาก "ลำปาง"
เรียกสั้น ๆ ว่า "เมืองลิสบทึน" หรือ เมืองลี้+สบ+เติน
คือ "เมืองเถิน" อ.เถิน จ.ลำปาง,นั้นเอง.
ครั้นมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์
กล่าวถึงการออกไปรบ ครั้งสุดท้าย
ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (สมเด็จพระวังหน้า (บุญมา)
เมื่อครั้ง พระยาเชียงใหม่ กาวิละ
แจ้งข่าวมา ว่า "พม่าจะมาตีเอาเมืองเชียงใหม่"
ใน ปี พ.ศ.พ.ศ.๒๓๔๕ ปีที่ ๒๑ ในรัชกาลที่ ๑ นั้น
สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า (บุญมา) 
เสด็จไปถึง "เมืองเถิน" 
ทรงพระประชวรพระโรคนิ่วพระอาการมาก 
เวลามีพิษร้อนถึงต้องลงแช่อยู่ในพระสาคร 
เสด็จขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่หาได้ไม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ 
จึงโปรดให้ กรมพระราชวังหลัง (ทองอิน) 
เร่งยกกองทัพตามกรมพระราชวังหน้า (บุญมา) ขึ้นไปถึงเมืองเถิน  
เห็นทรงพระประชวร พระอาการมาก ก็ทรงกรรแสง
กรมพระราชวังหน้า (บุญมา) ทรงเป็นนักรบ 
ที่เชี่ยวชาญสนามยุทธ 
แม้จะเสด็จนำทัพไปด้วยพระองค์ ไม่ได้
ก็ยังตรัสสั่งให้ 
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลัง(ทองอิน) 
สมทบกับ กรมขุนสุนทรภูเบศร์ (เรือง หรือ จีนเรือง ),
พระยายมราช 
และข้าราชการฝ่ายวังหน้าทั้งปวง 
ยกขึ้นไปทาง "เมืองลี้" ซึ่งเป็นทางที่พม่ายกมาได้.
ทั้ง ๆ ที่เส้นทางจะลำบากมากกว่า
จะยกทัพขึ้นไปทาง เมืองลำปาง.


ตำแหน่งพิกัดที่ตั้งทัพ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ (พระเจ้าวังหน้า บุญมา) ในการออกทัพครั้งสุดท้าย. ที่เมืองลี้สบเถิน (เมืองเถิน)
ขอบใจ "เค สาคร" หน่วยศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ที่ส่งพิกัดมาให้



ชัยภูมิที่ตั้งทัพ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ (พระเจ้าวังหน้า บุญมา) ในการออกทัพครั้งสุดท้าย. ที่เมืองลี้สบเถิน (เมืองเถิน)




โบราณสถาน "เจดีย์ที่หมาย" ตำแหน่งที่แม่น้ำลี้ มาสบกับ แม่น้ำเถิน ในปัจจุบัน



วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566

ลูกไทยชาวกรุงเก่า กลายเป็นปลัดทัพพม่า ยกมาตีเชียงใหม่

 ๓๕ ปี เด็ก บางกะจะ 

กลายเป็นปลัดทัพพม่า ยกมาตีเชียงใหม่

 พ.ศ.๒๓๔๕ ปีที่ ๒๑ ในรัชกาล ที่ ๑
พระยาเชียงใหม่ กาวิละ 
มีหนังสือบอกลงมาว่า 
"พม่ายกทัพจะมาตีเมืองเชียงใหม่"
ขอพระราชทานทัพกรุงขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ 
และพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ (บุญมา)  
พระสวามี "เจ้าอโนชา"
มิลังเล ที่จะจัดทัพขึ้นไปช่วยป้องกันเมืองเชียงใหม่
แต่สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ "บุญมา"
ทรงพระประชวร "พระโรคนิ่ว" พระอาการมาก 
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ 
เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์  “ทองอิน”
เสด็จไปเยี่ยมดู พระอาการที่ เมืองเถิน 
เห็นพระอาการ สมเด็จพระเจ้าน้า กรมพระราชวังบวรฯ
แล้วก็ทรงกรรแสง
กรมพระวังหลัง (ทองอิน)เสด็จยกทัพ ขึ้นไป กับ
เจ้าบำเรอภูธร “กรมขุนสุนทรภูเบศร์" 
(เรือง หรือ จีนเรือง ) เศรษฐีบางปลาสร้อย
ที่เป็นพี่น้องร่วมสาบาน กับกรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า
เมื่อครั้งพระเจ้าตากสิน เสด็จไปตีเมืองจันทบุรี
ตีได้เมืองลำพูน พม่าที่รักษาเมืองลำพูนแตกพ่ายไป
จับได้ตัว “เยสิดอง”ปลัดทัพพม่า 
กับไพร่หลายคน 
"เยสิดอง" คนนี้เป็นลูกไทยชาวกรุงเก่า 
บ้านบิดามารดาอยู่ “บางกะจะ"ใกล้ "วัดแพนงเชิง" 
เมื่อพม่าตีกรุงเก่าได้ นั้น 
"เยสิดอง" ชื่อ “มาก” 
เป็นเชลย ที่พม่า ได้เอาไปใช้สอย จนคุ้นเคย
เมื่อจะยกมาตีเมืองเชียงใหม่ 
จึงตั้งให้เป็นที่ "เยสิดอง"ปลัดทัพ มาในกองทัพด้วย.


สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หรือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา)



พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ ทายาทกรมขุนสุนทรภูเบศร์ (จีนเรือง) ต้นราชสกุล อุไรพงศ์



วัดใหญ่อินทาราม ชลบุรี ในอุปถัมภ์ของ "จีนเรือง" เศรษฐี เมืองบางปลาสร้อย (ชลบุรี)



ภาพวาด นายทหารฝ่ายพม่า



บางกะจะ ข้าม วัดแพนงเชิง พระนครศรีอยุธยา



เจดีย์ประธานวัดใหม่บางกะจะ ตรงข้ามวัดพนัญเชิง ที่บิดามารดา ของ "นายมาก" อยู่สมัยก่อนกรุงแตก แล้วถูกจับเป็นเชลยไปอยู่พม่า ๓๕ ปี จนได้ตำแหน่งเป็น "เยซิดอง" ปลัดทัพพม่า ยกมาตีได้เมืองลำพูน



งานมหรสพ ในงานพระเมรุ กับ การแข่งเรือ เดือน ๑๑ ระหว่างผลัดแผ่นดิน

 เรื่องสืบเนื่องมาจาก งานมหรสพ ในงานพระเมรุ 

กับ การแข่งเรือ เดือน ๑๑

เกือบทำให้เกิดจลาจล.

ภายหลัง "ศึกภายใน" คือ การจลาจล ระหว่างผลัดแผ่นดิน
"ศึกภายนอก" คือ สงคราม ๙ ทัพ ที่เข้ามาหลังผลัดแผ่นดินใหม่ ๆ 
๑๔ ปี หลังจากบ้านเมืองสงบ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
จึงได้ตั้งการพระเมรุ 
ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระชนกาธิบดี (ทองดี)
ที่สวรรคตตั้งแต่ครั้งบ้านเมืองเป็นจลาจล หลังกรุงแตก
จึงโปรดให้สร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ 
และเครื่องมหรสพสมโภช
เหมือนอย่างการพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า.
การแห่พระบรมศพครั้งนั้น 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑
เสด็จทรงพระราชยานโยงพระบรมอัฐิ เอง
สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (บุญมา) 
ทรงพระราชยานโปรยข้าวตอกนำมาในขบวน 
แลพระราชวงศานุวงศ์ทรงรูปสัตว์สังเค็ต 
ประคองผ้าไตรเข้าในกระบวนแห่งด้วยหลายพระองค์ 
ในการมหรสพ สมโภชพระบรมอัฐิ ครั้งนั้น 
มีโขนชักรอกโรงใหญ่
ทั้งโขนวังหลวง และวังหน้า 
แล้วประสมโรงเล่นกลางแปลง เล่นตอน
"ศึกทศกรรฐ์ ยกทัพ กับสิบขุนสิบรถ" 
โขนวังหลวงเล่นเป็นพระราม
ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง 
โขนวังหน้าเล่นเป็นทัพทศกรรฐ์
ยกออกจากพระราชวังบวรฯ 
มาเล่นรบกันในท้องสนามหลวงหน้าพลับพลา 
มีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป.
ครั้นถึงเดือนสิบเอ็ด น้ำนองตลิ่ง 
จึงจัด ให้มีการแข่งเรือ 
ระหว่างวังหลวง ชื่อ “ตองปลิว”
กับ วังหน้า ชื่อ “มังกร” 
วังหน้า "เล่นตุกติก"
พวกวังหลวงรู้ ไปกราบทูล รัชกาลที่ ๑
จึงทรงให้ "ยกเลิกการแข่ง"
กรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า ก็บาดหมางพระทัย 
ไม่มาเข้าเฝ้าเสีย  เกือบ ๒ เดือน
เมื่อมาเข้าเฝ้า ก็กราบทูล ว่า 
"เงินที่พระราชทานขึ้นไปปีละพันชั่ง ( ๘๐,๐๐๐ บาท) นั้น 
ไม่พอแจกเบี้ยหวัดข้าราชการในวังหน้า 
จะขอรับพระราชทานเงินเพิ่มเติมอีก
ให้พอแจกจ่ายกัน"
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ก็ดำรัสว่า
"“เงินนั้นเก็บมาได้แต่ส่วยสาอากร 
ก็พอใช้ทำนุบำรุงแผ่นดิน 
เหลือจึงจะเอามาแจกเบี้ยหวัด...ก็ไม่ใคร่จะพอ 
ต้องเอาเงินกำไร
จากการตกแต่งสำเภาออกไปค้าขาย มาเพิ่มเติมเข้าอีก 
จึงพอใช้ไปได้ปีหนึ่ง ๆ 
เงินคงคลังที่สะสมไว้ก็ยังไม่มี”
กรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า ก็เคืองพระทัย
กลับมากะเกณฑ์ข้าราชการ ให้เอาปืนขึ้นป้อมวังหน้า 
แล้วให้ตระเตรียมสาตราวุธ พร้อมไว้
ฝ่ายวังหลวง เมื่อรู้เช่นนั้น 
ก็เอาปืนขึ้นป้อม เตรียมไว้เช่นเดียวกัน
ครั้งนั้นเกือบจะเกิดการยุทธสงครามกัน  
ร้อนถึงพระพี่นางทั้งสองพระองค์
 ต้องเสด็จมาวังหน้า 
ทรงกรรแสงตรัสประเล้าประโลมไปถึงความเก่า ๆ 
แต่ครั้งตกทุกข์ได้ยากด้วยกันมา แต่ครั้งกรุงแตก
"ระหกระเหิน กระจัดพลัดพรายกัน"
มาจนถึงได้ราชสมบัติ 
สมเด็จพระอนุชาธิราช 
ก็มีพระทัยลดหย่อนอ่อนลง "สิ้นความพิโรธ"  
สมเด็จพระพี่นางเธอทั้งสอง 
จึงเชิญเสด็จให้ลงมาเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑
สมัครสมานกันแต่ในวันนั้น 
ทั้งสองพระองค์จึงกเป็นปรกติกันต่อมา.
มิเช่นนั้น แล้ว 
"สงครามกลางเมือง ก็จะเกิดขึ้นอีกครั้ง"
แล้วบ้านเมืองจะอยู่เป็นปกติสขได้อย่างไร ?


ภาพงานพระเมรุ สมัยพระนครศรีอยุธยา



ภาพจิตรกรรม งานพระเมรุ สมัยพระนครศรีอยุธยา



ภาพงานพระเมรุ สมัยรัตนโกสินทร์



โขนหลวงชักรอก ตอน "ศึกอินทรชิต" โขนเด็กปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ...



โขนชักรอก ตอน "ศึกอินทรชิต" ในพระบรมราชินูปถัมภ์



วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2566

การตั้งรับข้าศึก ใน ในสงคราม ๙ ทัพ พ.ศ.๒๓๒๘

 "จดหมาย แม่ มีไปถึงลูกชายที่ไปรบ"

ในสงคราม ๙ ทัพ

ในปี พ.ศ.๒๓๒๘ 

ด้วยเหตุ เพิ่งเกิดจลาจล และ เปลี่ยนรัฐบาลใหม่
พระเจ้าปดุงให้กรีฑากองทัพใหญ่ เป็นหลายทาง (๙ ทัพ)
จะเข้ามาตีพระนครศรีอยุธยา (กรุงเทพฯ) ให้จงได้
แม้ รัชกาลที่ ๑ จะทรงหนักพระทัยในสงครามครั้งนี้
แต่ก็ด้วยความสมัครสมานสามัคคี
ความเด็ดขาด 
และ ความทุกข์ที่เคยได้รับร่วมกันมา 
สมัยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา แตก (พ.ศ.๒๓๑๐)
จึงแบ่งสายการรับศึก ออกไปป้องกันประเทศ
ในทุกช่องทางที่คาดว่าพม่าจะล่วงแผ่นดินเข้ามาได้
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ 
กรมพระราชวังบวรสถานภิมุขฝ่ายหลัง (ทองอิน)  พระชันษา๓๙ ปี
กับ พระเจ้าหลานเธอกรมหลวงนรินทร์เรศร์ (ทองจีน) พระชันษา ๒๘ ปี
และเจ้าพระยามหาเสนาบดีศรีสมุหพระกลาโหม,
เจ้าพระยาพระคลัง (หน),
พระยาอุไทยธรรม 
แลท้าวพระยาข้าราชการทั้งในกรุงและหัวเมืองทั้งปวง 
ยกออกไปตั้งรับพม่า ณ เมืองนครสวรรค์
สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท 
รบพม่าที่เข้ามาทางด่านเจดีย์ ๓ องค์ ที่ลาดหญ้า กาญจนบุรี
และ ที่เข้ามาทางเมืองทวาย ตั้งทัพนอกเขางู ราชบุรี
แตกไปทั้งสองค่าย แล้ว
ทัพกรมพระวังหลัง (ทองอิน) 
ที่ขึ้นไปรับศึกทางเหนือ ยังไม่ปรากฎผลงาน
จนเดือดร้อนถึงพระมารดา 
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  ตำหนักใหญ่
กรมพระยาเทพสุดาวดี (สา)
มีท้องตราขึ้นไปถึง กรมพระราชวังหลัง (ทองอิน) ฉบับหนึ่ง
ครั้นในเวลา ต่อมา 
รัชกาลที่ ๑ ก็ทรงยกทัพหลวง 
ขึ้นไปหนุนทัพพระวังหลัง (ทองอิน) ถึงเมืองนครสวรรค์
และเร่งให้พระวังหลัง (ทองอิน),กรมหลวงนรินทร์เรศร์ (ทองจีน) 
ขึ้นไปสมทบทัพพระยามหาเสนา ที่พิจิตร
ยกไปตีค่ายพม่าที่ปากพิง พิษณุโลก 
ให้แตกภายในวันเดียว 
ส่วนทัพเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กับ
พระยาอุทัยธรรม
ให้ไปสมทบกับทัพ กรมหลวงเทพหริรักษ์ (ตัน) พระชันษา ๒๖ ปี
ที่เมืองกำแพงเพชร 
ขึ้นไปตีที่ค่ายพม่า ที่บ้านระแหง แขวงเมืองตาก.
ราชการงานสงคราม ทางฝ่ายเหนือ
ในความรับผิดชอบของ สมเด็จกรมพระวังหลัง (ทองอิน)
ก็สำเร็จลง สมบูรณ์ตามพระราชกำหนด.
ก็เพราะด้วยข้อความในสารตรา ที่ "แม่สา" มีไปถึง ลูกชาย"ทองอิน"
ตอนหนึ่ง ว่า 
"ราชการข้างหัวเมืองฝ่ายเหนือ แม้กรมสมเด็จพระวังหลัง
กระทำไม่สำเร็จ พระเศียรก็คงจะมิได้คงอยู่กับพระกายเป็นแท้"



พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (ทองอิน)


สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (สา)



ตำแหน่งที่ตั้งทัพรับศึกพม่าทางเหนือ เมื่อครั้งสงคราม ๙ ทัพ พ.ศ.๒๓๒๘



กองทัพพระวังหลัง (ทองอิน) และคณะ ตีค่ายพม่า ที่ปากพิง พิษณุโลก เมื่อครั้งสงคราม ๙ ทัพ พ.ศ.๒๓๒๘



กองทัพ เจ้าพระยาพระคลัง (หน),พระยาอุทัยธรรม สมทบกับทัพ สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ( ตัน) ไปตีค่ายพม่า ที่บ้านระแหง แขวงเมืองตาก เมื่อครั้งสงคราม ๙ ทัพ พ.ศ.๒๓๒๘