Best Thai History

Amps

แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ โบราณวัตถุ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ โบราณวัตถุ แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2566

เหรียญสองกษัตริย์กู้ชาติ พระราชวังจันทรเกษม

 เหรียญสองกษัตริย์กู้ชาติ 

ทำพิธีปลุกเสก และพิธีมังคลาภิเษก 

ในพระราชวังจันทรเกษม ของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช 

(วังใหม่ สร้างขึ้นในพระนครศรีอยุธยาประมาณปี พ.ศ. ๒๑๒๐ ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช)
วันอาทิตย์ที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๑
-06.30 น.-12.00 น. พระราชภาวนาวิกรมฯ (ท่านเจ้าคุณธงชัย) 
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ทำพิธีบนพลับพลาจตุรมุข 
-ค่ำ ๆ เฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ 
ณ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระราชวังบางปะอิน
เช้า พระสงฆ์ ขึ้นประจำตามอาสนะที่ตั้งไว้บนพลับพลาจตุรมุข
พระราชวังจันทรเกษม
ทหาร,ตำรวจ เข้ามาเต็ม พช.จันทรเกษม รอรับ 
07.00 น.พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร 
เดินทางมาถึง และเป็นประธานในพิธีบวงสรวง เททอง 
พระอาทิตย์ทรงกลด แต่เช้า
หลังจากนั้น เป็นพิธีมังคลาภิเษกในท้องพระโรง พลับพลาจตุรมุข 
พระราชวังจันทรเกษม 
มีพระเกจิอาจารย์เข้าร่วมนั่งปรกด้วยหลายรูป 
ท่านเจ้าคุณพระราชภาวนาวิกรมฯ (เจ้าคุณธงชัย) วัดไตรมิตร 
ปลุกเสกเดี่ยว บรรยากาศเงียบ สงบมากกก
เสร็จพิธี ท่านเจ้าคุณธงชัย มอบเหรียญสองกษัตริย์กู้ชาติ
ให้ใช้ในกิจกรรมของ พช.จันทรเกษม จำนวนหนึ่ง
ค่ำ ๆ 
ขับรถออกจาก พช.จันทรเกษม 
ไปเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ 
ณ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระราชวังบางปะอิน 
ได้นั่งโต๊ะและที่นั่งเดิม ใกล้โต๊ะเสวยตามปกติ 
เสด็จกลับเมื่อเวลา 04.30 น.  
ขับรถตามขบวนเสด็จกลับเข้า กทม.ด้วย ถึงบ้านเกือบ 6 น.







วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

เหรียญสองกษัตริย์วังจันทรเกษม สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

 เหรียญสองกษัตริย์วังจันทรเกษม

พระนครศรีอยุธยา 

วันเสาร์ที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๐
ประมาณ ๖ โมง รอรับ 
พลเอก เชษฐา ฐานะจาโร 
มาเป็นประธานฝ่ายฆราวาสทำพิธีบวงสรวง ที่พระราชวังจันทรเกษม 
เรื่องย้ายพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 
ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
มาร่วมรับด้วย 
กลางวันร่วมเป็นลูกศิษย์
ไปกินอาหารที่ ร้านแพกรุงเก่า 
กับท่านเจ้าคุณพระราชภาวนาวิกรม วัดไตรมิตร 
ท่านเจ้าคุณ มอบเหรียญสองกษัตริย์ไว้ให้จำนวนหนึ่ง
เพื่อจำหน่ายเป็นเงินรายได้
สนับสนุน กิจกรรม ของพช.จันทรเกษม 
นอกเหนือจากเงินงบประมาณ.





วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

พระนางพญา กรุ วัดดอนลาน สุโขทัย ๒๕๒๗

 ชีวประวัติ ปี ๒๕๒๗

นักโบราณคดี พระนครศรีอยุธยา

ตอน...พระนางพญา กรุ "วัดดอนลาน" สุโขทัย

ทำงานอยู่ที่โครงการหมู่บ้านโปรตุเกส
ศึกภายนอกไม่เท่าไหร่
แต่ศึกภายในรุกรานหนัก
ขอลาพักร้อน ไปอยู่ กับภริยา ที่สุโขทัย
สัก ๑ อาทิตย์
เสาร์อาทิตย์ปิดหัวท้าย รวมเกือบ ๑๐ วัน
วันศุกร์ที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๗ 
 ไปช่วย "หมู เรียม" ทำทะเบียนโบราณวัตถุ
ที่  "วัดวาลุการาม" 
ตำบลโตนด อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย 
ตามคำขอของ ท่านเจ้าคุณ
พระประสิทธิโรจนคุณ (ภุชงค์ พุทฺธสุวณฺโณ) 
ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสและเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ด้วย 
ก่อนกลับท่านเมตตาให้ 
"พระพิมพ์วัดดอนลาน" มาคนละองค์ 
มี ปฏิพัฒน์,เรียม,ศาณิชย์ 
และฝากพี่เหลือง (พัชรี โกมลฐิติ) 
หน.พช.รามคำแหง ด้วยอีก ๑ องค์
ปล.ต้องไปตามค้นดูก่อนว่าอยู่ที่ไหน ?...อิ อิ
(ภาพประกอบ จาก Google)


วัดวาลุการาม ตำบลโตนด อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ก่อนและหลังการบูรณะ



พระประสิทธิโรจนคุณ (ภุชงค์ พุทฺธสุวณฺโณ) เป็นเจ้าอาวาสและเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย



พระพิมพ์ "กรุวัดดอนลาน" สุโขทัย



วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ชีวประวัติ ข้าราชการ ถูกให้ย้ายไปไหน ก็ต้องย้าย โชคไม่ร้าย เพราะได้ ใครก็ไม่รู้ คอยติดตามลาดตระเวน ปี ๒๕๒๖

 ชีวประวัติ ปี ๒๕๒๖

นักโบราณคดี พระนครศรีอยุธยา

ตอน..ตรวจยามคนเดียว ฤา ไปหลายคน

ผมโดนคำสั่งย้ายลงมาปฏิบัติงาน
พระนครศรีอยุธยา...ไม่ใช่เพราะตั้งใจมา
แต่ถูกบังคับให้มา
เพราะศึกภายในของผู้ใหญ่
ถึงจะอย่างไรก็ตาม 
ผมก็เป็นข้าราชการในแผ่นดินนี้ (๒๕๒๖)
ได้ปวารนาตัวเข้ามารับใช้ ด้วยความเต็มใจ
และจริงใจ
เมื่อสั่งให้ผมไปไหน...ผมก็ไป
ไม่เคยขัดขืน  หรือ บิดพลิ้วคำสั่ง
ให้ปฏิบัติหน้าที่ตรงไหน 
ก็ทำหน้าที่
ที่ได้รับมอบหมายมาให้ดีที่สุด
เท่าที่ความสามารถจะทำได้
ปิดงาน ปิดสมอง เรื่องราวที่ต้องค้นคว้าต่อ
บนปราสาทเขาพนมรุ้ง
ลงมาเปิดสมอง เปิดงานใหม่ ในพระนครศรีอยุธยา
อย่างเต็มสตีปัญญา
แม้งานที่ได้รับมอบหมายให้ทำเป็นเรื่องเป็นราว คือ
"ขุดแต่งปรับปรุงหมู่บ้านโปรตุเกส"
จะยังทำไม่ได้ เพราะ
๑.กำลังอยู่ระหว่างหาข้อมูลเขียนประมาณการ "งบประมาณ"
ที่ "มูลนิธิกุลเบงเกียน ประเทศโปรตุเกส 
โอนเงินมาตั้งจ่ายไว้ให้เรียบร้อยแล้ว
และ ๒. เกิดน้ำท่วมสูง ในพระนครศรีอยุธยา
นอกเกาะเมือง ทั้ง เพนียด,คลองสระบัว 
และ "บ้านดิน" หรือ "โคกวัดในหมู่บ้านโปรตุเกส"
โดยเฉพาะ "โบสถ์นักบุญเปโตร (ชาวบ้านตั้งให้ )
ผมใช้เวลา ทำงานตามหน้าที่ "นักโบราณคดี"
หน่วยศิลปากร ที่ ๑ 
ตรวจสอบพื้นที่ขออนุญาต ก่อสร้างอาคาร บ้านพัก
ทั้งบนที่ดิน ของ 
สำนักงานที่ดิน,สำนักงานราชพัสดุ
และ ที่ศาสนสมบัติ ของกรมศาสนา
นอกจากหน้าที่ อันเป็นหน้าที่เฉพาะตำแหน่ง แล้ว
ยังทำหน้าที่ ตรวจเวร-ยาม ตอนกลางคืน ด้วย
สมัครใจหรือไม่สมัครใจ 
ผมก็ชอบ
ผมเข้าไปตรวจสอบยาม ใน "พระราชวังโบราณ"
เวลากลางคืน บ่อยมาก
เพราะเป็นช่วงเวลา 
หลังจากจะต้องเดินทางกลับจากหน่วยฯ (แค้มป์ วัดมหาธาตุ)
ไปพักที่ "คุ้มขุนแผน"
ผมแขวนสร้อยทองคำ หนัก ๒ บาท ๑ เส้น
กับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม (ของคุณตาเฉื่อย)
พระผงทำจากกระดูกผีเจ็ดป่าช้า 
วัดโพธิ์ท่าเตียน (ภุชงค์ จันทวิช ไปตามหามาให้ )
และพระคาถา บท "กรณียเมตตสูตร"
ที่ทั้งพ่อผม และ อาจารย์ แสง มนวิทูร 
สอนให้สวดอยู่เสมอ เมื่อไปในสถานที่ใดก็ตาม
ผมอุ่นใจในการตรวจ และ 
นอนได้ ในทุกสถานที่ของอยุธยา
โดยเฉพาะ เมื่อมีผู้ทักเสมอ ๆ ว่า 
"ผมมีเพื่อนมาด้วยหลายคน" 
ทั้ง ๆ ที่ "ผมมักไปไหน มาไหน เพียงคนเดียว"
พฤติกรรมผม ไม่เป็นที่ไว้วางใจของคนทางบ้าน
ทั้ง แม่ และ ภริยา
จนในวันจันทร์ ที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๖
เพื่อความสบายใจของครอบครัว
ผมต้องถอดสร้อยคอทองคำ 
ฝากแม่ไว้ที่บ้านฝั่งธนฯ
แล้วจะไปไหน ก็ไปเพียงแต่ตัว 
กับเพื่อน ๆ ไร้เงาที่รักของผม.
เป็นสุข และปลอดภัยดีกว่ามี "ทอง"


พระพิมพ์ทำจากกระดูกผีเจ็ดป่าช้า วัดโพธิ์ ท่าเตียน



มหาเปรา พุ่มพงษ์แพทย์



ศจ. ร.ต.ท.แสง มนวิทูร



วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ปริศนาอาถรรพ์ พระผีวัดโพธิ์

 "พระผีวัดโพธิ์"

เมื่อจะต้องอยู่ด้วยกัน ต้องลองวิชากันหน่อย...
วันจันทร์ที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๓
เมื่อคืน เหมือนฝันเห็น "ผี" 
มารบกวนตลอดเวลา
ต้องสวดมนต์ต่อสู้กันอย่างอุกฉกรรจ์ 
กว่าจะสงบและได้นอนหลับสนิท
เกือบใกล้รุ่ง  
อาจเป็นเพราะจิตนิวรณ์ถึงพระผีวัดโพธิ์ 
ที่ภุชงค์เพิ่งฝากอ้อยมาให้เมื่อวันก่อน 
........................................................................
พฤติกรรมของ "พระพิมพ์กระดูกผี ๗ ป่าช้า"
ของวัดโพธิ์ องค์นี้ 
ยังสร้างพฤติกรรม
อีกหลายครั้งต่อมาในชีวิต
ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
เป็นที่ประจักษ์กับคนหลายชาติ หลายภาษา....อุ อุ



วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565

ที่มาแผ่นทองคำเขียนลายราชสีห์

 สืบเนื่องมาจาก "หนังราชสีห์"

ทำให้เกิด การ "ปุจฉา - วิสัชนา" 

เรื่อง "แผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์" ๒ องค์ นี้

เพราะทั้งสององค์นี้ 
เป็นฝีมือช่างทองในราชสำนัก กรุงรัตนโกสินทร์
ผู้ถาม (ปุจฉา)...เกิดความสงสัย เพราะไม่ได้เห็นของจริง 
จึงต้องขอความเห็นจากหลาย ๆ ท่าน
ด้วยเหตุการณ์ที่บันทึกในพระราชพงศาวดาร  กล่าวไว้เพียงว่า
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 
สร้างพระนคร และพระมหาปราสาทราชนิเวศน์สำเร็จแล้ว
ใน ปี จ.ศ.๑๑๔๗ ปีมะเส็ง ( พ.ศ.๒๓๒๘ เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลที่ ๑ )  
ได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ให้เต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี 
โดย สร้างเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ขึ้นใหม่
ทดแทนของเดิมที่สูญหายจากภัยสงคราม 
จึงให้ "ตั้งพระที่นั่งภัทรบิฐ 
ทำด้วยไม้มะเดื่อหุ้มเงิน องค์หนึ่ง 
บนพระที่นั่งนั้น ลาดหญ้าคา และโรยด้วยแป้งข้าวสาลี 
มี "แผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์" อันมีมหันตเดช 
ด้วยเส้นชาดหรคุณทับบนเส้นหญ้าคา 
แล้วคลุมลงด้วยผ้าขาว กั้นพระบวรเศวตฉัตรเจ็ดชั้น”
เพราะไม่มี "หนังราชสีห์" มาปูลาดพระที่นั่ง
แบบสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อครั้งขึ้นปราบดาภิเษก
"หนังราชสีห์" ที่ใช้ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ 
และฝากชาวที่ ไปรักษาไว้....ก็ยังไม่พบ
จึงต้องสร้าง "แผ่นทองเขียนลายราชสีห์" องค์หนึ่ง
ขึ้นใช้ปูลาดพระที่นั่งภัทรบิฐ แทน 
เมื่อครั้งปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติกรุงรัตนโกสินทร์
ต่อมาอีก ๗๐ กว่า ปี
"เจ้าฟ้ามงกุฎ" หรือ "เจ้าฟ้าพระ"
เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์
ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ใน ปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓ ( พุทธศักราช ๒๓๙๔ ) 
เป็น "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" 
พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ 
จึงให้ "ตั้งพระที่นั่งภัทรบิฐเบื้องปัศจิมทิศ 
ทำด้วยไม้ไชยพฤกษ์ หุ้มด้วยเงินชั้น ๑ ทองชั้น ๑ กั้นเศวตฉัตร ๗ ชั้น 
พื้นพระที่นั่งลาดผ้าอุทุมพร 
แล้ววาง "แผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหรคุณ" 
แล้ววาง "ตรางคาแผ่นทอง" 
และพราหมณ์โรยแป้งเข้าสาลีเสกด้วยอิศวรมนต์ 
และปูผ้าลาดบนพระที่นั่งภัทรบิฐ"
ในพระราชพงศาวดาร รัชกาล ที่ ๒ และ รัชกาล ที่ ๓
ไม่กล่าวถึง รายละเอียด ของการตั้งพระที่นั่งภัทรบิฐ
และ "แผ่นทองคำเขียนลายราชสีห์"
คงใช้ "แผ่นทองคำเขียนลายราชสีห์"
องค์ที่สร้างมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ 
ครั้นมาถึงการ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เข้าใจว่า แผ่นทองเขียนลายราชสีห์"องค์เดิม อาจชำรุด 
หรือจะด้วยเหตุผลใด ไม่ปรากฎ
จึงให้สร้าง "แผ่นทองคำเขียนลายราชสีห์" 
ลองพระที่นั่งภัทรบิฐขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่ง
ดังนั้น จึงเป็นเหตุนำมาซึ่งการ ปุจฉา-วิสัชนา ดังกล่าว
ขอบคุณ ทุกท่านที่แสดงความเห็นครับ




การวิสัชนา ด้วยภาพและคำอธิบาย ของ "คุณเสถียร"
สมาชิกอาสาสมัครพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร รุ่นแรก...ขอบคุณครับ



วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2564

จำปาหล่อ คืออะไร

จำปาหล่อ คืออะไร

"จำปาหล่อ"
ชื่อนี้ ดูจะมีความหมาย และแปลกหู 
ได้ยินมานานแล้ว แต่ไม่ได้สนใจ จะติดตามหาความหมาย
จนการมาสำรวจเส้นทาง ที่ จ.อ่างทอง ครั้งนี้
สอบถาม "บัญชา" คนอ่างทอง  ว่า 
“จำปาหล่อ” มีความหมายอย่างไร ?
"บัญชา" กล่าวตามประวัติของพื้นที่ตำบลจำปาหล่อ ว่า
 “จำปา” หมายถึง ส่วนหนึ่ง คือ “ดุม” ของ ล้อเกวียนที่ทำจากไม้ 
ที่หาได้จากในหมู่บ้าน 
แต่ไม้ ไม่คงทนถาวร 
จึงได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เป็น "จำปาเหล็ก" 
โดย "นายหล่อ" คนในตำบลนี้ เป็นผู้ริเริ่มทำขึ้นแทน"จำปาไม้"
จนเป็นที่นิยมและมาซื้อกันไปใช้ 
เรียกกันเป็นภาษาชาวบ้านว่า “จำปาหล่อ” 
ที่เรียกเช่นนั้น...ไม่แน่ใจว่า 
เป็นชื่อ ของ คน นามชื่อ”หล่อ” 
ที่มีฝีมือในการทำจำปาเกวียน ที่ชาวบ้านรู้กัน ว่า
"จำปาเกวียนที่ดี มีคุณภาพแข็งแรง 
ต้องเป็นของ "ช่างหล่อ" อยู่ที่ตำบลนี้ เท่านั้น
หรือ เป็นชื่อเรียกวัสดุ “เหล็กหล่อ” 
ที่ใช้ทำดุมเกวียนแทนไม้ ว่า "จำปาหล่อ"
ถ้าเป็น "เหล็กหล่อ" 
ก็ย่อมหมายถึง ล้อเกวียนที่มีวัสดุเหล็กเข้ามาผสม
อันเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากประเทศทางตะวันตก
ซึ่งเริ่มมาแพร่หลายในสมัย รัชกาลที่  ๕ 
และกระจายมาถึงแขวงเมืองอ่างทองด้วย
ฝากผู้อยากรู้ซอกแซก ไปตามหาคำตอบด้วยกันจ้าา


เกวียน ที่ บ้านใกล้เขาสมอคอน ลพบุรี ถ่ายเอง
เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๑๑
เคยลงหนังสือ นิตยสารชัยพฤกษ์






วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2564

พระแสงปืนคาบศิลา พระเจ้าตาก สันนิษฐานว่า จะเป็นปืน ปืนคาบศิลา ผลิตใน ปี ค.ศ.1766 ( พ.ศ.๒๓๐๙ ) ชนิดแบบบรรจุกระสุนท้ายรังเพลิง ของฝรั่งเศส

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ทรงปืนคาบศิลา ฝรั่งเศส

ตามบันทึก กองทหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ยกออกจาก วัดพิชัย อยุธยา 
รบกับพม่า อย่างน้อย  ๕ ครั้ง 
คนไทยที่บ้านดงเมือง ๑ ครั้ง 
เดินทาง รอนแรม มา ๑๗ วัน 
จน วันจันทร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีจออัฐศก
ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๓๐๙ ถึงบ้านนาเกลือ
นายกล่ำ (นายกลม) คุมไพร่ พลทหารอยู่ที่บ้านนาเกลือ  
คอยสกัดคิดประทุษร้าย
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 
เสด็จทรงช้างพระที่นั่ง 
ทรงพระแสงปืนต้น รางแดง 
สันนิษฐาน ว่าจะเป็น ปืนคาบศิลา ของฝรั่งเศส 
ซึ่งผลิตขึ้นในช่วงเวลานั้น 
เสด็จพร้อมกับ หมู่พลโยธาทหาร 
เข้าไปในกลุ่มของพวกนายกล่ำและพวกพลทหาร  
ทำให้ นายกล่ำ และพวกพลทหาร สยบสยองกลัว วางอาวุธ 
ลงถวายบังคมยอมเป็นข้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
นำเสด็จพระดำเนินเข้าไปประทับในสถานที่อันควร
พระราชทานทรัพย์แลราโชวาท
ให้ตั้งอยู่ใน "ยุติธรรม".
ขอบคุณ ภาพและแผนที่ประกอบ จาก Google


เส้นทางเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ๑๗ วัน จากวัดพิชัย กรุงศรีอยุธยา ถึง บ้านนาเกลือ ชลบุรี


เหรียญพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงช้าง จ.จันทบุรี


ปืนคาบศิลา ผลิตใน ปี ค.ศ.1766 ( พ.ศ.๒๓๐๙ )



ปืนคาบศิลา ผลิตใน ปี ค.ศ.1766 ( พ.ศ.๒๓๐๙ )


 


วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระพุทธรูปทวาราวดี ที่ อำเภอโคกปีบ ปัจจุบันคือ อำเภอศรีมโหสถ

อัตชีวประวัติ ปฏิพัฒน์(วัชรินทร์)

ชีวิตรับราชการ ช่วงที่ ๓

ตอน "พระพุทธรูปทวาราวดี ที่ อำเภอโคกปีบ"

วันจันทร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๒
เรื่องสืบเนื่องจากชาวบ้าน ในนิคมโรคเรื้อน 
ได้ไปขุดพบพระพุทธรูปหินทราย 
สมัยทวาราวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๓
ในขณะพรวนดินเพื่อทำเกษตรกรรม 
ที่เนินดินที่อยู่อาศัยนอกเมืองศรีมโหสถทางทิศตะวันออก 
ภายในนิคมโรคเรื้อน ใน ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ 
และนำไปเก็บรักษาอยู่ที่ว่าการกิ่งอำเภอโคกปีบ 
(ปัจจุบันคือ อำเภอศรีมโหสถ) 
เนื่องจากข้าพเจ้าเคยมาขุดแต่งโบราณสถานที่เมืองนี้
ครั้งหนึ่ง ใน ปี พ.ศ.๒๕๑๙ 
คุ้นเคยกับชาวบ้านโคกวัด เป็นอย่างดี 
จึงได้แวะเข้าไปพูดคุยกับพวกชาวบ้าน 
มี ผู้ใหญ่สนิท เป็นต้น 
คุยกันถึงเรื่อง พระพุทธรูปที่เก็บรักษาอยู่ที่ที่ว่าการอำเภอโคกปีบ 
ผู้ที่ขุดพบอยากจะขอเงินรางวัลจากกรมศิลปากร 
ซึ่งกำลังดำเนินเรื่องอยู่  
แต่ทางจังหวัดปราจีนบุรี 
ยังขัดข้อง ไม่ยอมยกให้ 
ซึ่งคงจะเป็นเรื่องยืดเยื้อ มานานแล้ว  
โบราณวัตถุชิ้นนี้เป็นงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรี 
อย่างไรก็ควรจะเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นดีที่สุด 
โดยเฉพาะถ้าหากตั้งอยู่ที่ พช.ปราจีนบุรี 
ก็ไม่น่าจะมีปัญหา....
ปัจจุบัน ก็ยังเก็บรักษา อยู่ในวิหารหน้าที่ว่าการอำเภอศรีมโหสถ 
ภาพประกอบ จาก Google





วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564

โบราณวัตถุ จาก ตำบล หันห้วยทราย อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา

อัตชีวประวัติ ปฏิพัฒน์ (วัชรินทร์)

ภาค รับราชการ

ตอน : โบราณวัตถุ จาก ตำบล หันห้วยทราย อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา

น่าเสียดาย ที่สมัยนั้น ยังไม่มีเครื่องทุ่นแรง เช่น Google Map
เหมือนสมัยนี้  การระลึกชาติ ในสมัยนั้น จึงมีข้อมูลเพียงเท่านี้
วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๙
วันนี้ จ่ายเงินค่าแรงคนงานชั่วคราว ๒ เดือน    ( สิงหาคม -กันยายน )
ตอนเที่ยง ไป อำเภอประทาย จังหวัดบุรีรัมย์ 
มี ข้าพเจ้ากับพี่วิพากษ์ หน.พช.พิมาย ไปด้วยกัน 
ด้วยเหตุที่ อำเภอประทาย แจ้งการพบโบราณวัตถุ 
ไปที่จังหวัดนครราชสีมา ๆ แจ้งกลับมาที่
หน่วยศิลปากร ที่ ๖ พิมาย 
ให้ไปรับโบราณวัตถุ
เมื่อเดินทางถึง อำเภอประทาย แล้ว 
ติดต่อขอรับโบราณวัตถุ แต่ก็ต้องรออยู่นาน เพราะ
นายอำเภอไม่อยู่ ไปราชการในพื้นที่  
โบราณวัตถุที่ไปรับนั้น 
เป็นโบราณวัตถุที่ชาวบ้านขุดพบในบริเวณ
บ้านหันห้วยทราย ตำบลหันห้วยทราย อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา 
ลักษณะโบราณวัตถุ เป็นเทวรูปนั่งชันเข่า 
ชำรุด หัก แต่มีชิ้นส่วนที่คาดว่าจะต่อกันได้ 
มีฐานที่รองรับ 
เมื่อรับโบราณวัตถุแล้ว เดินทางกลับ 
ถึง พช.พิมาย ประมาณ ๑๖.๓๐ น.
นำโบราณวัตถุลงเก็บในคลัง  
จากการตรวจสอบใน google Map 
ได้ขอบเขต ของ อบต.หันห้วยทราย อำเภอประทาย แล้ว
แต่ไม่พบร่องรอยของ ปราสาทหินขอมในประเทศไทย หรือ 
ชุมชนโบราณ ในบริเวณตำบล ดังกล่าว
จึงไม่แน่ใจว่า โบราณวัตถุชิ้นดังกล่าว ถูกนำมาจากที่อื่นหรือไม่ ?



วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เศียรพระพุทธรูปหินทราย ที่ วัดไชยวัฒนาราม ๒๕๑๗

 อัตชีวประวัติ ปฏิพัฒน์(วัชรินทร์) (ต่อ)

ชีวิตแรกรับราชการ : ตำแหน่ง ภัณฑารักษ์ จัตวา พช.พระนคร

ตอน : เศียรพระพุทธรูปหินทราย ที่ วัดไชยวัฒนาราม

วันศุกร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๗
ข้าพเจ้ากับพี่สันติ เล็กสุขุม 
ขึ้นไปขอเงินท่านอาจารย์ มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล
ไปสำรวจที่อยุธยา เมื่อวาน 
ท่านประทานเงินมาให้ จำนวน ๑๐๐ บาท
เราสองคน นั่งรถไฟมาลงอยุธยา แล้วนั่งรถตุ๊ก ๆ ไปวัดพนัญเชิง 
ดู พระพุทธรูปทั้งในวิหารและในอุโบสถ เสร็จแล้ว
จากนั้น นั่งรถต่อไปวัดไชยวัฒนาราม 
เพราะเกรงว่า จะหาเรือข้ามลำบาก 
เลยลองเดินข้ามสะพานใหม่ไป 
แต่ถนนหนทางยังสร้างไม่เสร็จเป็นที่เรียบร้อย 
จึงมีฝุ่นมาก 
ทำให้ไม่ชวนให้เพลิดเพลินกับการเดินเสียทีเดียว
วัดไชยวัฒนาราม มาครั้งนี้ดูโล่งเตียนดีเหลือเกิน 
คล้าย ๆ จะมีใครมาถากถางทำความสะอาด 
หรือจะเป็นเพราะหน้าแล้ง 
พวกหญ้าโทรมลงจึงดูโล่งไปก็ได้  
พี่สันติ ดูจะทึ่งกับวัดนี้มากพอควรเลยทีเดียว
จุดแรกที่แวะไปดู คือ 
พระพุทธรูปที่เป็นประธานของโบสถ์ทางตอนหน้าวัด 
ข้าพเจ้าปีนขึ้นไปถ่ายรูป
พระพักตร์ของพระพุทธรูป 
เป็นหินทรายสีเทาทั้ง ๒ องค์ 
ซึ่งเคยมีความคิดอยู่ว่า 
การทำพระพุทธรูปหินทรายนี้ 
คงจะเป็นการทำที่สืบเนื่องกันมาโดยตลอด
ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ลงมา 
จนน่าจะทำเป็นแบบอุตสาหกรรมของอยุธยาเลยทีเดียว
จากบันทึก ปี ๒๕๑๗ นี้ แสดงให้เห็นว่า 
เศียรพระพุทธรูป หินทรายเดิม ๒ เศียร นี้ 
หายไป ระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ - พ.ศ.๒๕๒๖  
เพราะหลังจากข้าพเจ้าไปรับราชการ 
ขุดแต่งที่หมู่บ้านโปรตุเกส ใน ปี พ.ศ.๒๕๒๗  นั้น 
ไม่มีเศียรหิน ๒ เศียรนี้แล้ว 
ขอบคุณภาพจาก Google
















วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2563

พิพิธภัณฑ์และโบราณวัตถุ วัดโบสถ์ อ.อินทร์บุรี ดูหนังกลางแปลง เรื่อง ทุ่งเศรษฐี

 อัตชีวประวัติ ปฏิพัฒน์(วัชรินทร์) (ต่อ)

ชีวิตแรกรับราชการ : ตำแหน่ง ภัณฑารักษ์ จัตวา พช.พระนคร

ตอน : ไป ดูหนังกลางแปลง "ทุ่งเศรษฐี" ที่ วัดโบสถ์ อ.อินทร์บุรี

วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๗
ตามเพื่อน (เพ็ญพรรณ เต็มสุข) ไปช่วยดู จะจัดพิพิธภัณฑ์ วัดโบสถ์
อำเภออินทรบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
โดยไปขึ้นรถร่วมไปกับคณะที่มารับพัดยศ
ของท่านพระครูวัดโบสถ 
เลขา ท่านเจ้าคุณ เจ้าอาวาสวัดโบสถ 
ถึงวัดโบสถ์  
เพ็ญพรรณ พาขึ้นไปดูพิพิธภัณฑ์และโบราณวัตถุที่มี 
ส่วนใหญ่เป็นเครื่องถ้วยจีน 
และของใช้แบบชาวบ้านเป็นจำนวนมาก 
มีโบราณวัตถสมัยทวาราวดี อยุธยา และสุโขทัย บ้างเล็กน้อย  
จัดยาก เพราะพระท่านอยากจะจัดแบบของท่าน 
แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการอธิบายให้เข้าใจ
หลังจากอาบน้ำเสร็จ 
ก็ออกเดินไป บ้านพี่เนื่อง 
ซึ่งจบอนุปริญญามาจากคณะจิตรกรรม รุ่นแรก ๆ 
เพ็ญพรรณ ฝากข้าพเจ้าให้นอนที่บ้านนี้  
แล้วจึงออกมานั่งดูหนังกลางแปลง 
ที่มาช่วยในงานฉลองพัดยศนี้ ด้วยกัน  
หนังกลางแปลงกำหนดให้เลิกเมื่อเวลา ๒๒ นาฬิกา 
เพื่อเป็นการช่วยเหลือรัฐบาล ประหยัดไฟฟ้า 
ภาพยนต์ที่ฉายคืนนี้  เรื่อง “ทุ่งเศรษฐี” 
เรื่องเป็นอย่างไรไม่รู้ 
แต่จำได้ว่า ส่วนใหญ่ใช้ฉากถ่ายทำที่จังหวัดกำแพงเพชร










ตุ๊กตาสำริดด้ามภาชนะ บ้านเชียง มีกระดูกสัตว์ อยู่ภายในแท่งนั้น

 อัตชีวประวัติ ปฏิพัฒน์(วัชรินทร์) (ต่อ)

ชีวิตแรกรับราชการ : ตำแหน่ง ภัณฑารักษ์ จัตวา พช.พระนคร

ตอน : ตุ๊กตาสำริด บ้านเชียง

วันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๗
ไปเรียนหนังสือที่คณะในตอนเช้า 
แล้วเลยไปหา อาจารย์หมอสุด แสงวิเชียร ที่ ร.พ.ศิริราช
ขอทราบผลการตรวจพิสูจน์ 
ตุ๊กตาสำริดด้ามภาชนะ
สมบัติของคุณวัฒนี นวพันธ์ 
ที่แจ้งว่า ขุดได้มาจากบ้านเชียง 
เนื่องจากมีกระดูกอยู่ภายในแท่งนั้น 
อาจารย์หมอสุด แสงวิเชียร ได้ขอนำไปพิสูจน์ที่ ร.พ.ศิริราช 
ผลปรากฏว่า 
กระดูกนี้ไม่ใช่กระดูกนิ้วคน เป็นกระดูกสัตว์ 
แต่ลวดลายและลักษณะของตุ๊กตาตัวนี้ น่าสนใจ 
เพราะ ดู primitive ดี 
มีการสวมกำไลคอ 
หน้ายาว ๆ เหมือนใส่หน้ากาก 
หรือ ทำผมทรงแบบหนึ่ง ของพวก Aborigin 
ลักษณะท่าทางหน้าตาคล้าย ๆ กับคนป่าในอาฟริกา ไม่มีผิด




วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

ตอน : สมบัติ...เมืองโบราณดงแม่นางเมือง นครสวรรค์

 อัตชีวประวัติ ปฏิพัฒน์(วัชรินทร์) (ต่อ)

ชีวิตแรกรับราชการ : ตำแหน่ง ภัณฑารักษ์ จัตวา พช.พระนคร

วันอังคารที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๖

ตอนบ่ายขึ้นไปทำทะเบียนบนคลังต่ออีกครั้ง 
( ลืมบันทึกไว้ว่า ขณะนี้ 
ข้าพเจ้าได้รับทราบคำสั่งบรรจุเรียบร้อยแล้ว 
แต่ยังคงไม่ได้รับเงินเดือนตามเคย)  
มีของอยู่กลุ่มหนึ่ง 
ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่ขุดได้มาจากการขุดค้น
ที่ดงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 
มีพระพุทธรูปหลายองค์ที่แสดงให้เห็นว่า
เป็นพระพุทธรูปในศิลปแบบทวาราวดี ตอนปลาย 
(พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ )  
เพราะมีอิทธิพลศิลปะแบบลพบุรีปะปนแล้ว 
มีผอบใบหนึ่ง บรรจุกระดูกอยู่ภายใน 
น่าสนใจมาก 
รวมทั้งลูกปัดสีเหลืองและสีอื่น ๆ อีกมาก 
เครื่องหมายที่ทำเป็นบัวหรือ รูปดาวทอง ลูกปัดทองคำ และ ตุ้มหูทองคำ 
ที่ข้าพเจ้าสนใจมากที่สุดในตอนนี้ ก็คือ 
"ตุ้มหูทองคำ" 
เพราะทั้งลักษณะและเนื้อทอง
ใกล้เคียงกันกับที่ข้าพเจ้าขุดพบที่ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร 
ไม่มีผิด 
ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่า 
บางทีวัฒนธรรมที่นี่ อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมที่สกลนคร 
ก็เป็นได้
และในขณะเดียวกัน ก็ทำให้คิดว่า 
“ยุคโลหะ” นั้น 
เห็นจะไม่ใช่เป็นเพียงยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่เพียงอย่างเดียว 
แต่ก็มีโอกาสจะเป็นยุคประวัติศาสตร์ด้วยก็เป็นได้ 
บางทียุคทวาราวดีที่พบในประเทศไทยนี้ 
จะเป็นยุคที่เรียกว่า "ยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ ( Protohistory)"
ของไทยได้เช่นเดียวกัน
ขอบคุณ ภาพประกอบ จาก Google โดยเฉพาะ ภาพการขุดแต่งขุดค้นที่เมืองดงแม่นางเมือง ปี พ.ศ.๒๕๐๖ ของมูลนิธิ เล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์






คนที่กำลังจับลังหันหน้าสู้กล้อง คือ อามหา (มหาจีรเดช) หรือ "ขุนเดช" ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ



ตารางเทียบยุคสมัยโบราณคดีในประเทศไทย (ปฏิพัฒน์ ๒๗ พ.ย.๑๖)