Best Thai History

Amps

วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

โบราณสถานบนเส้นทางลำน้ำสำคัญ สามโก้ อ่างทอง

 "วัดโบสถ์" ต.สามโก้ จ.อ่างทอง

โบราณสถานบนเส้นทางลำน้ำสำคัญ "สามโก้" 

โยงใยสายสัมพันธ์ระหว่าง

พระนครศรีอยุธยา และ สุพรรณภูมิ

นานพอ ๆ กับ
ราชธานีศรีอยุธยา
ตามประวัติ "สามโก้" เดิมเป็นชื่อของหมู่บ้านบ้านสามโก้  
แม้จะยังหาความหมายของชื่อสามโก้ไม่ได้ 
แต่ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งของชื่อ คือเป็นชื่อของ “ลำน้ำ”  
กล่าวคือ (คลอง)ลำน้ำสนุ่น ๑ 
(คลอง)ลำน้ำขาว ๑ 
และ (คลอง)ลำน้ำขาว (อีกสายหนึ่ง) 
ไหลมารวมเป็นสายเดียวกันที่ "บ้านสามโก้" 
ไหลไปลงแม่น้ำน้อย ที่ อำเภอวิเศษชัยชาญ  
เส้นทางลำน้ำทั้ง ๓ สายนี้ 
มีความเชื่อมต่อระหว่างเมือง 
สุพรรณบุรี อ่างทอง และ พระนครศรีอยุธยา
ในสมัยอยุธยาเป็นราชธานี 
เมืองวิเศษไชยชาญ จึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ 
เนื่องจากอยู่ในเส้นทางการเดินทัพทั้งทางเข้า ทางออกของศึก (พม่า) 
ที่เดินทัพมาจากทางชายแดนด้านตะวันตก  
ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร เรื่องไทยรบพม่า
พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 
ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ใน พ.ศ. ๒๑๓๕ 
เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกกองทัพหลวง
ผ่านบ้านสามโก้เพื่อไปตั้งรับทัพพระมหาอุปราชาที่สุพรรณบุรี
"วัดโบสถ์" อ.สามโก้ จ.อ่างทอง
มีเนินโบราณสถาน ขนาดย่อม หันหน้าไปทางทิศตะวันออก 
มีสระน้ำใหญ่ (ขุดใหม่) อยู่ทางด้านหน้า 
ก่อนจะถึง ลำน้ำสาขา (ลำสนุน) 
บนเนินโบราณสถาน ดังกล่าว ปัจจุบัน 
มีปรางค์ เป็นประธานของพระอุโบสถ ที่บูรณะขึ้นใหม่ทั้งหลัง 
สถาปัตยกรรมรูปปรางค์ ที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก 
มีลักษณะป้อมเตี้ยไม่สูงเพรียว 
มีซุ้มพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ 
ไม่ปรากฎร่องรอยทางขึ้นและห้องเรือนธาตุ 
ไม่ปรากฏลวดลายประดับให้เห็น 
นอกจากท่อนองค์ของพระพุทธรูปยืนปูนปั้น 
ซึ่งดูแล้วคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปประดับในซุ้มพระปรางค์ 
วัดราชบูรณะ และวัดพระราม 
พระปรางค์องค์นี้ ส่วนล่างน่าจะยังไม่ได้รับการขุดแต่ง 
แต่โดยหลักฐานอื่นที่สามารถใช้นำมาประกอบ 
ในการพิจารณากำหนดอายุโบราณสถานแห่งนี้  คือ 
ใบพัทธสีมาคู่ทั้ง ๘ ทิศ ที่ทำด้วยวัสดุที่แตกต่างกัน 
คือมีทั้งใบสีมาหินชนวน 
และใบสีมาหินทรายแดง 
แม้ลวดลายจะไม่วิจิตรเหมือนฝีมือช่างในเมืองหลวงนัก 
และหรือ 
อาจมีการเคลื่อนย้ายมาจากวัดร้างอื่นใกล้ ๆ กัน 
แต่โดยสรุปจากหลักฐานที่ยังปรากฏในปัจจุบัน ที่วัดโบสถ์ 
ทั้งรูปแบบของปรางค์ และ ใบสีมา 
อาจจะกำหนดอายุ โบราณสถาน แห่งนี้ ได้ว่า
ควรสร้างขึ้นในระหว่าง 
ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐  ถึง ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒



เส้นทางลำน้ำสำคัญ "สามโก้" ที่เป็นโยงใยสำคัญ ระหว่างพระนครศรีอยุธยา และ สุพรรณภูมิ




ปรางค์ประธาน (พระธาตุ) และพระอุโบสถ ที่ยังปรากฎอยู่บนเนินโบราณสถาน วัดโบสถ์




พระพุทธรูปปูนปั้นในซุ้มวัดโบสถ์ อ.สามโก้ จ.อ่างทอง



พระพุทธรูปปูนปั้นในซุ้มพระมหาธาตุ (ปรางค์)วัดพระราม
พระนครศรีอยุธยา สร้างระหว่างพุทธศักราช ๑๙๖๗ - ๑๙๙๑








ใบพัทธสีมาหินทรายแดง




ใบพัทธสีมาหินชนวน









































วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ตามรอยพระบาทยาตราสมเด็จพระมหาเถรเจ้าอุทุมพรจาก สุสานลินซินกอง อมรปุระ ประเทศเมียนมาร์กลับสู่ไทย

 บทความสั้น ภาพบรรยากาศ งานส่งมอบพระบรมรูปพระมหาเถระอุทุมพรเจ้า แด่ อบต คำหยาด โพธิ์ทอง อ่างทอง

คำถามทำไมต้องเป็นที่ คำหยาด อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง
เหตุเพราะ ครั้งหนึ่งขุนหลวงหาวัดท่านเสด็จอยู่ที่พระตำหนักคำหยาด อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง แห่งนี้



หุ่นดินต้นแบบปั้นรูปและรูปหล่อโลหะสำริด
"สมเด็จพระมหาสมณะเจ้าอุทุมพร"







คณะทำงาน ตามรอยพระเจ้าอุทุมพร สู่ไทย



ทีมงานอาสาสมัคร
ไปตามรอยพระบาทยาตราสมเด็จพระมหาเถรเจ้าอุทุมพร
ที่สุสานลินซินกอง อมรปุระ ประเทศเมียนมาร์ รุ่นแรก 
ได้รับ ๑.พระบรมรูปสมเด็จพระมหาเถรเจ้าอุทุมพร
เนื้อหล่อสำริดผสมอัฐิพระสรีรังคารที่พบ 
จำนวน ๑ องค์ 
 ๒."ประคำ" หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล' 
เจ้าอาวาสวัดอนาลโย จ.พะเยา จำนวน ๑ เส้น
๓.หนังสือ "ส่งเสด็จพระสู่สรวงสวรรค์"
ขอขอบคุณ อาจารย์ วิจิตร ชินาลัย 
และ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน์
เป็นอย่างยิ่งครับ




วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

แอบปิติ กับวันเกิด ในปี พ.ศ.๒๕๓๙

 แอบปิติ กับวันเกิด ในปี พ.ศ.๒๕๓๙

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๙ 
ได้รับคำสั่งให้ย้าย
จาก อุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี 
กลับมาเป็น "ภัณฑารักษ์ ๗"
ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม พระนครศรีอยุธยา 
วันนี้เป็นวันเกิด เช้าออกไปใส่บาตร 
อุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร และตัวเอง 
ได้รับหมายให้ไปเฝ้าที่พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร 
พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา 
คืนนี้ มีครูเปียโน ศิลปินแห่งชาติฝรั่งเศส ตามเสด็จมาด้วย 
หลังเสวยมีรายการเต้นรำ 
สนุกสนานเหมือน
ได้รับพระราชทานเลี้ยงฉลองวันเกิดไปด้วยโดยปริยาย.




ถวายการรับใช้ที่ พระนครศรีอยุธยา ขณะที่ รับราชการที่ชายแดน กาญจนบุรี

 ถึงจะต้องถูกย้ายไปรับราชการที่ชายแดน (กาญจนบุรี)

ก็ยังต้องกลับมาถวายการรับใช้ที่ พระนครศรีอยุธยา

วันอาทิตย์ที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๘ 
ได้รับแจ้งข่าวหมายเสด็จพระตำหนักสิริยาลัย 
และให้ไปเข้าเฝ้าตามปกติ 
จึงต้องเดินทางจากปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี 
มาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  
คุณไข่มุกด์ ชูโต ให้ไปพบที่บ้านพักก่อนเดินทางไปอยุธยา 
ได้รับ เหรียญรัชกาลที่ ๕  ๑ เหรียญ 
ตอนเย็นเดินทางไป จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
รอจน ๒๐ น. จึงเข้าไปรอรับเสด็จฯ 
นายบรรจง กันตวิรุฒ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
และข้าราชการอื่น ๆ ที่ไปรอรับเสด็จฯ  ทั้งหมด
ได้รับอนุญาตให้กลับก่อนได้ 
เพราะเป็นงานฉลองปีใหม่ภายในส่วนพระองค์  
สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ 
มีพระราชเสาวนีย์
ให้นายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ 
เป็นตัวแทนพระองค์ นั่งรถตำรวจ 
นำพวงมาลาไปสักการะที่พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย 
และเจดีย์เจ้าฟ้ากุ้ง ที่วัดไชยวัฒนาราม 
เป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 
ที่มีความสุข และปลื้มปิติ เป็นอย่างยิ่งครั้งหนึ่งในชีวิต 
ประทับอยู่ที่พระตำหนักสิริยาลัย จน ๐๕ น.เศษ 
จึงเสด็จฯกลับพระตำหนักสวนจิตรลดา



วันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2567

วัดชนะสงคราม วัดกลางนา วัดโบราณ สร้างสมัยอยุธยาตอนกลาง

 วัดชนะสงคราม "วัดกลางนา"

สร้างสมัยอยุธยาตอนกลาง

ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ 

ทหารหาญและชาวมอญ สังกัดวังหน้า 
ได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนและชุมชนชาวมอญ
ในบริเวณด้านทิศเหนือของพระราชวังบวรสถานมงคล
ใกล้กับ "วัดกลางนา" 
หลังจาก สมเด็จกระพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท 
(บุญมา พระยาเสือ) ทรงเริ่มบูรณะปฎิสังขรณ์ 
พระอารามเก่า ( วัดกลางนา)  ในเมืองธนบุรี 
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๗ 
ตามพระราชดำริ ใน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 
แล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่สถิตย์อยู่ของพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ 
พระราชทานนามวัดใหม่ ว่า "วัดตองปุ" 
ให้เหมือนกับ "วัดตองปุ" 
ซึ่งเป็นกลุ่มชาวมอญ 
ที่ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังจันทรเกษม (วังหน้า) ครั้งกรุงเก่า
บำเหน็จความชอบของชาวมอญ สังกัดวังหน้า
ที่ร่วมรบในสงครามเก้าทัพ ปี พ.ศ.๒๓๒๘,
สงครามท่าดินแดงและสามสบ เมืองกาญจนบุรี พ.ศ.๒๓๒๙ 
และ สงครามที่นครลำปาง ป่าซาง ใน ปี พ.ศ.๒๓๓๐
เมื่อเสร็จศึกดังกล่าวกลับมาแล้ว
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท 
และแม่ทัพนายกองในทัพของพระองค์ 
ได้อุทิศถวาย “เสื้อยันต์” ที่สวมออกศึก 
แก่พระพุทธรูปภายในพระอุโบสถ เป็นพุทธบูชา 
ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า 
“เดิมนั้น ทั้งองค์พระ[พระประธาน-พระพุทธนรสีห์ฯ ] 
และฐานพระประธานมีขนาดเล็ก 
ภายหลังได้ซ่อมแซม (พอกปูนทับลงรักปิดทอง)
ให้สูงขึ้นอีกดังที่ปรากฏทุกวันนี้ 
ด้านหน้ามีพระอัครสาวกซ้ายขวา ๒ องค์ 
เป็น "พระปูนปั้น" เช่นกัน 
เดิมนั่งประนมมือ 
มาเปลี่ยนภายหลังให้ยืนประนมมือ 
และรอบๆ พระประธานมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ๑๕ องค์ 
เสร็จแล้วทรงสถาปนาวัดตองปุขึ้นเป็นพระอารามหลวง 
พระราชทานนามใหม่ ว่า "วัดชนะสงคราม"
ประวัติวัดชนะสงคราม 
กล่าวไว้แต่เพียง เริ่มบูรณะปฏิสังขรณ์
ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๓๒๗ 
ดังนั้น สิ่งก่อสร้างที่ปรากฎให้เห็น 
จึงเป็นอาคารในสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งหมด
ส่วนสิ่งที่ยังเหลือเค้าของความเป็นสมัยอยุธยา จึงมีเพียง 
๑.ฐานชุกชี สี่เหลี่ยม 
๒.พระประธาน และพระพุทธรูปบางองค์ บนฐานชุกชีในพระอุโบสถ 
ที่ได้รับการพอกทับ(เสื้อยันต์) ใหม่ ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
และ ๓. ใบพัทธสีมาเอก หน้าพระอุโบสถ
จากรูปแบบของใบพัทธสีมา (ซึ่งเหลือเพียงใบเดียว ?)
เมื่อนำไปปรึกษาเปรียบเทียบกับรูปแบบของใบสีมา
ที่พบในวัดที่สามารถกำหนดอายุได้ เช่น "วัดวรเชษฐาราม"
ในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา แล้ว
กำหนดอายุได้ว่า 
ควรอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เป็นอย่างต่ำ


พระพุทธรูป บนฐานชุกชี พระประธานในพระอุโบสถ
วัดชนะสงคราม ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ (ภาพจาก หนังสือประวัติวัดชนะสงคราม)



พระพุทธรูป บนฐานชุกชี พระประธานในพระอุโบสถ
วัดชนะสงคราม ภาพถ่ายเมื่อ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖



พระพุทธรูป บนฐานชุกชี พระประธานในพระอุโบสถ
วัดชนะสงคราม ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๗



ด้านหน้าใบสีมาเอก วัดชนะสงคราม พ.ศ.๒๕๖๗



ด้านข้างใบสีมาเอก วัดชนะสงคราม พ.ศ.๒๕๖๗



ใบสีมาหินชนวน ด้านหลังใบสีมาเอก วัดชนะสงคราม
สมัยอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ ๒๒




ใบสีมาหินชนวน ด้านหลังใบสีมาเอก วัดชนะสงคราม
สมัยอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ ๒๒



ใบสีมาหินชนวน วัดวรเชษฐาราม พระนครศรีอยุธยา
สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ( พ.ศ.๒๑๔๙ -พ.ศ.๒๑๕๓ )




วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2567

ประติมากรรมรูปพระสาวก ประมาณสมัยรัชกาลที่ ๕ ๖ ในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร

 พระสาวก (พระมหากัสสปะ ? ) ถือ ดอกมณฑารพ

ประติมากรรมรูปพระสาวก ห่มจีวรลายดอกเฉียง

ประทับนั่งขัดสมาธิราบ บนฐานบัวมีชายผ้าทิพย์ห้อยหน้า
พระหัตถ์ขวาถือดอกไม้ (มณฑารพ)
พระหัตถ์ซ้ายวางอยูเหนือพระเพลามีรูสำหรับเสียบ (ตาลปัด) 
 ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ 
อายุ ประมาณสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ 
ประติมากรรมรูปพระสาวกเช่นนี้ 
ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในชีวิต 
ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรก 
ในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร
"ดอกมณฑารพ"  ถือ เป็นดอกไม้ ชนิดหนึ่ง 
ที่ปรากฏในพระพุทธประวัติ 
พระสุตตันตปิฎก บทปรินิพพานสูตร
 ตอนที่พระมหากัสสปะกำลังเดินทางจะไปเฝ้า
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
ขณะเดินทางระหว่างเมืองกุสินารา กับเมืองปาวา  
ได้พบ อาชีวก คนหนึ่ง ถือ ดอกมณฑารพ (มณฺฑารวปุปฺผํ  คเหตฺวา) 
ดอกไม้สวรรค์ ที่ มักจะร่วงหล่นลงมาจากสวรรค์
ในโอกาสที่สำคัญ   
จึงได้ถามข่าวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า 
และทราบการปรินิพพานจากอาชีวก นั้น 
เมื่อ ๗ วันหลังพุทธปรินิพพาน

credit photoroom







วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2567

ธรรมมาสน์ โบราณ เครื่องสังเค็ด งานพระบรมศพรัชกาลที่ ๕ วัดชนะสงคราม พ.ศ.๒๔๕๓

 ธรรมมาสน์เครื่องสังเค็ด งานพระบรมศพรัชกาลที่ ๕  พ.ศ.๒๔๕๓

“เครื่องสังเค็ด” หมายความว่า “ของที่ระลึก” 

สำหรับงานอวมงคล 

เครื่องสังเค็ดเป็นสิ่งของที่จัดทำเป็นพิเศษ
สำหรับบุคคลอย่างหนึ่ง 
อีกอย่างหนึ่ง สำหรับอารามต่าง ๆ 
ได้แก่ วัดในศาสนาพุทธ ทั้งนิกายเถรวาทและนิกายมหายาน, 
โบสถ์ในศาสนาคริสต์, มัสยิดในศาสนาอิสลาม ฯลฯ เป็นต้น 
เครื่องสังเค็ด พระราชทาน 
ไม่เคยปรากฏ ชัดเจนมาก่อน 
จนภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ปี พ.ศ. ๒๔๕๓
 และมีกำหนดวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
ในวันที่ ๔เมษายน ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 
มีพระราชดำริทรงปรึกษา กับ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 
และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น 
จัดทำของที่ระลึกและเครื่องสังเค็ด 
สำหรับพระราชทานในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 
หลายแบบอย่าง 
สำหรับ "ธรรมมาสน์สังเค็ด" ที่พระราชทานถวายวัดชนะสงคราม 
ในพระอุโบสถหลังนี้ 
สร้างขึ้นตามแบบอย่าง “สัปคับพระคชาธาร”
เป็นธรรมาสน์ที่ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อน
และสร้างขึ้นใหม่ในโอกาสวันถวายพระเพลิง 
สมเด็จพระปิยะมหาราช พระองค์นั้น
โดยสร้างเป็น ธรรมมาสน์ลายสลักปิดทองร่องชาติ
สำหรับพระราชทานให้แก่พระอารามหลวงชั้นเอก
มีพระนามาภิไธยย่อ จ.ป.ร.ในดวงดารา
ใต้พระเกี้ยว หรือ จุลมงกุฎ
และคำจารึกว่า “ทรงพระราชอุทิศในงานพระบรมศพ พ.ศ.๒๔๕๓
ธรรมาสน์สังเค็ดหลังนี้ จึงนับเป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าชิ้นหนึ่ง
ที่ได้รับการบำรุงรักษาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม
และควรชมเป็นอย่างยิ่งของวัดชนะสงคราม.